วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ฝึกสติ ณ สวนพุทธธรรม อยุธยา

อาทิตย์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ค.ศูนย์จิตตปัญญาฯพาไปเรียนรู้ตนเองที่สวนพุทธธรรม อยุธยา ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์คุณแม่อมรา สาขากร ท่านพูดว่า "ตอนนี้คุณไม่ต้องจด ไม่ต้องทำอะไร ฟังอย่างเดียว" ท่านให้ฟัง และตามย้อนดูใจ ตามรู้ตัวเองตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ผ่านการบรรยาย ยกตัวอย่าง ประสบการณ์ชีวิตจริง และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่นระดมสมอง สะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียน ออกกำลังกาย เกมส์ทดสอบ การเดินทางไกล การทำสมาธิ

ช่วงเวลาวันแรกได้พบว่าตัวเองใช้ชีวิต ทำงาน และเรียน โดยลืมยึดหลักศีล สมาธิ ปัญญา ตามที่ได้เรียนรู้จากคุรุหลายๆท่าน บางครั้งก็คิดมากไป แม้แต่เรื่องง่ายๆในชีวิต เรื่องการหาความสุขในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ "ใช้ใจ" ในการหาความสุข พอกลับมาใช้ใจมากขึ้น ความสุขมันก็อยู่ในตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เรามี เราอยู่กับความสุขในแบบของเรา แต่กลับไม่รู้ตัว มัวแต่ไปคิด ตามหาความสุขนอกตัว ใช้เวลากับนิยามของความสุข สร้างรูปแบบ ตั้งเป้าหมาย วางแผน ทำสิ่งต่างๆเพื่อกาความสุขบนความสำเร็จรูปแบบต่างๆ แต่ที่แท้เรามีพอพอเพียงแล้ว นอกจากใช้ใจ คุณแม่ยังสอนเรื่องการกราบพระอย่างมีความสุข การแปรงฟันอย่างมีความสุข

กิจกรรมที่ประทับใจในวันที่สองคือการเดินอย่างมีสติ ตามรู้ตัวเอง โดยการเดินแถวเรียงหนึ่งจากสวนพุทธธรรมไปและกลับตลาดบางปะหัน ระยะทางทั้งหมดกว่าห้ากิโล โดยมีกฎกติกาว่า ห้ามทุกคนพูดคุยกัน...ระหว่างทาง ดังนั้นหกโมงเช้า พวกเราเริ่มออกเดินแถวเรียงหนึ่งผ่านบ้านเรือน เป็นบ้านไม้สมัยเก่าบ้าง บ้านสมัยใหม่บ้าง ผ่านวัด โรงอิฐ ร้านค้า...เดินมองข้างทางและคิดไปเรื่อยๆ คิดถึงบ้านที่ต่างจังหวัด เห็นดอกไม้ที่ปลูกตามต่างจังหวัด ดอกชบา ดอกเข็ม เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนตอนเช้า คนหนุ่มสาวไปทำงาน เด็กๆไปโรงเรียน คนแก่นั่นถางหญ้า บางกลุ่มจับกลุ่มคุยกันบ้าง ทานกาแฟบ้าง มีเสียงนกร้อง จิ้งหรีดร้อง มีหมาเห่าพวกเราตลอดทาง และลมเย็นพัดโชยตลอดทาง สิ่งที่เห็นคือชาวบ้านซึ่งเดี๋ยวนี้ขับรถ ขี่มอเตอร์ไซด์กันทั้งนั้น ไม่ค่อยมีคนเดินอย่างเรา และ..เวลาชาวบ้านเห็นพวกเรา เขาไม่ได้รู้สึกว่าพวกเราที่เดินผ่านนั้นเป็นเรื่องแปลก อาจเนื่องจากคุณแม่อมราท่านจัดกิจกรรมบ่อยครั้งแล้วจนชาวบ้านเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ตลาดพวกเราเริ่มหาพลาสเตอร์ยา บางคนซึ้อถุงเท้า รองเท้าแตะ พวกเราล้วนอดทนในสิ่งเดียวกันคือถูกรองเท้ากัดซะถลอกปอกเปิก เจ็บไปหมด แต่..เราก็ผ่านมันมาได้ กิจกรรมนี้ทำให้ได้พบว่า "เรามองดูทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว แต่บางครั้งลืมมองดูใจตัวเอง" บางทีเราก็กลับไปในอดีต คิดถึงอนาคต มองดูคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆรอบๆตัว คิด..อยาก..และฟุ้ง...จนไม่ได้หันกลับมามองดูที่ตัวเอง อยู่กับใจตัวเองบ้าง กิจกรรมวันนี้ สอนให้รู้เรื่องสำคัญคือ "สติ"

วันที่สามเป็นวันที่ปลดปล่อยตัวเองไปบ้าง ได้ฟังแก่นคำสอนเรื่อง "รู้" และได้เข้าใจความแตกต่างระหว่าสติสามัญกับมหาสติที่ตั้งอยู่บนหลักศีล สมาธิ ปัญญา ได้เห็นถึงความฟุ้งซ่าน หมกหมุ่น เครียด คิด จ้อง จม เผลอ ใจลอย ดังนั้นจึงตั้งใจว่าจะนำสิ่งที่ได้รับทั้งหมดนี้มาฝึกปฏิบัติ ย้อนกลับมา "รู้ตัวเอง" เตือนสติตัวเอง ในขณะที่ทำงานตามบทบาทหน้าที่ต่างๆในชีวิต ถึงแม้ว่าการรู้เท่าทันตนเอง การมีสติเป็นสิ่งที่ยังห่างไกล...ก็คงต้องฝึกฝนต่อไป...เพราะคุณแม่อมราสอนว่า "คนดีก็มีทุกข์ ชีวิตคนเรา จึงต้องฝึกสติให้ใจผ่องใส"

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ฝึกสติ ณ วัดญาณเวศกวัน

การเปิดเรียนจิตตปัญญาฯ เริ่มด้วยการใช้เวลาระหว่าง 25-27 พ.ค.ที่วัดญาณเวศกวัน หลังพุทธมณฑล เวลา 3 วัน 2 คืน ที่วัดญาณฯนั้น ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ครรชิต คุณวโร ท่านกรุณาสอนความจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ท่านสอนเรื่องการสร้างสุขภาพแบบองค์รวมแนวพุทธ การศึกษาและชีวิตประเสริฐ ไตรสิกขา ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ไตรลักษณ์ ปฎิจจสมุปบาท และฝึกประสบการณ์จริงในการตามรู้ ตามดูลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหว เดินจงกรม ทำสมาธิ วิปัสสนา ด้วยความที่ทิ้งมานาน ทำไม่ค่อยดีนัก แต่สิ่งที่ได้คือผ่อนพัก และเรียนรู้ถึงความไม่ค่อยนิ่ง คิดฟุ้งไปเรื่อยเปื่อยของตัวเอง

พระอาจารย์ครรชิต ท่านมีเมตตาสอนง่ายๆ พูดและยกตัวอย่าง เล่าเรื่องราวประกอบให้เข้าใจง่าย ทำให้คนที่อยู่กับทางโลกมาตลอดได้เรียน ได้ฟังแล้วเข้าใจได้ นำไปฝึกตนได้ต่อเนื่อง

วัดญาณเวศกวัน ตั้งโดยท่านอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)มีความหมายที่แสดงถึงจุดหมายแห่งการบำเพ็ญศาสนกิจของวัดว่ามุ่งเน้นให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เพื่อเสริมสร้างความรู้ในพระธรรมวินัย และปฏิบัติให้เจริญธรรมเจริญปัญญา ตลอดจนบรรลุญาณสูงขึ้นไปตามลำดับ

สถานที่ของวัดญาณฯดีมากๆ สงบเงียบ สวยงาม อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขับรถสะดวก มีห้องสมุดใหญ่โตชื่อ หอสมุดญาณเวศก์ธรรมสมุจย์ บุคคลทั่วไปเข้าค้นคว้าหาความรู้ นั่งทำงานได้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่: http://www.watnyanaves.net/

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จิตตปัญญาศึกษา...เรียนรู้ด้วยใจ

หลายๆคน คงเป็นเหมือนกัน คือชอบอ่านหนังสือประเภท How to และตอนนี้แนวที่ดังมากๆคือเรื่องของความสุข ในบ้านเมืองฝรั่งมีหนังสือออกมามากมายเกี่ยวกบเทคนิค วิธีการต่างๆที่จะตามล่าความสำเร็จ และบางเล่มก็เน้นเรื่องให้มีความสุขตลอดเวลาที่เราเดินทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ในบ้านเราก็มีหนังสือประเภทนี้ หนังสือแปลก็มากมาย และที่น่าสังเกตคือมีหนังสือธรรมะมากมายในตลาด โดยรวมแล้วบ้านเมืองของเรา และโลกของเรากำลังลดเรื่องวัตถุลงและพูดกันเรื่องความสุข เรื่องการอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น

โดยอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ในการสอน การทำงาน และด้วยความชอบส่วนตัวรักการอ่านหนังสือ ดังนั้นศาสตร์ตะวันตกและตะวันออกจึงมาตีกันยุ่งขิงในหัว ทำยังไงถึงจะเห็นภาพที่ชัดเจนของเรื่องเหล่านี้ดีนะ...ดังนั้น เราจึงเดินตามหัวใจไปหาคำตอบของการพัฒนาในตน ทำยังไง คิดยังไง ถึงเรียกว่า "ทำตัวให้เล็กลง เพื่อที่จะทำงานใหญ่อย่างมีความสุขและความสำเร็จ"

Soul mission ในครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ด้วยใจ การบ่มเพาะวิถีชีวิตที่เรียบง่ายงดงาม วันนี้..เรามาเรียนรู้ที่มหิดล กับคุรุมากหลาย เรียนร่วมกับเพื่อนหนึ่งโหล โดยที่เรามี Life vision ต้องทำไปพร้อมๆกันคืองานใหม่ที่เรียกตัวเองว่า Coach และ Facilitator มุ่งเน้นด้านความสุขและความสำเร็จ

ตอนนี้ถ้าจะทำความรู้จักกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ต้องตามไปที่:http://www.ce.mahidol.ac.th/
หรือ อ่านเรื่องราวของจิตตปัญญาศึกษา: http://jittapanya.blogspot.com/

โกเอ็นก้า กับ การเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ


เดือนสิงหาคม 2550 เป็นครั้งที่สองของการปฏิบัติธรรม วันแรกที่ออกเดินทางสู่ปราจีนบุรี ใจก็เริ่มคิดว่าจะไหวมั้ยหนอ แต่ครั้งเห็นชาวต่างชาติหลายคน เห็นเด็กวัยเรียนมหาวิทยาลัย วัยเริ่มต้นชีวิตการทำงานมาเข้าอบรมด้วย ก็ทำให้น้อมนำใจให้ระลึกถึงคำตอบของชีวิต การที่เป็นคนมีราก การปฏิบัติภาวนา ย่อมมีคุณแก่ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

ช่วงแรกของการฝึกอานาปานสติ รู้สึกจิตใจไม่สงบเลย พอวันที่เข้าสู่วิปัสสนาภาวนารู้สึกปั่นป่วนเร่าร้อน เหมือนกำลังอยู่ในสมรภูมินรก เวลาที่นอนคนเดียวก็จะกลัวเพราะเขาให้ถอดพระออก ซึ่งโดยปกติมักมีพระแขวนติดตัวตลอดเวลา กลางคืนก็นอนไม่หลับ ฝันถึงญาติโยมที่เสียไปแล้ว ตื่นดี 4 เพื่อฝึกปฏิบัติท้งวัน แรกๆอยากกลับบ้านมาก ได้แต่โอดครวญ โอ้ชีวิต...ทำไมมันทรมานจัง

เวลาที่ผ่านไป วันที่ 8 วันที่ 9 รู้สึกดีขึ้น กลับกันมาก เห็นความดี ความงามรอบๆตัว ช่วยทำความสะอาดรอบๆบริเวณได้อย่างมีความสุข แจ่มใส สามารถทำเมมตาภาวนา และดื่มด่ำกับร่างกายและจิตใจที่ผ่อนคลายได้ ตอนนี้สิ่งที่รู้สึกเหมือนเกิดใหม่และได้ค้นพบบางอย่างในตัวเองเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาแต่เราไม่เคยนำมันออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

สิ่งดีๆที่ได้รับจากโกเอ็นก้ายังคงติดตัวมาจนทุกวันนี้ ถ้าวันนั้นไม่ได้เข้าอบรม ก็คงจะพลาดสิ่งสำคัญสิ่งหน่งในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย

ขอบคุณคุรุทุกท่านและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มารับใช้ธรรมะ ทำให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในบ้านเรา

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.thai.dhamma.org/

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมาธิคืออะไร

มาคัส อูรีเลียส (Marcus Aurelius, 2006)ซึ่งเป็นนักปรัชญาตะวันตก อธิบายความหมายหรือนัยยะของสมาธิไว้ว่า
1. เป็นสภาวะที่จิตใจถูกปล่อยให้ว่างจากความคิด
2. เป็นการตั้งมั่นของจิตใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3. เป็นการเปิดรับจิตใจให้สัมผัสถึงความบริสุทธิ์ หรือพลังงานต่างๆ เช่น การปฏิบัติแบบซีคูล่า เป็นต้น
4. เป็นการหาเหตุผลทางปรัชญาของศาสนา เช่น การเข้าสู่นิพพานของศาสนาพุทธ เป็นต้น

จากการศึกษาของ มาคัส เขาจำแนกชนิดของสมาธิโดยอ้างอิงกับศาสนา ลัทธิ และวิธีการปฎิบัติ มีการแบ่งสมาธิออกเป็น 9 ชนิด
1. สมาธิตามแนวพุทธศาสนา Buddhism)
2. สมาธิตามแนวคริสต์ศาสนา(Christianity)
3. สมาธิตามแนวศาสนายิว(Judaism)
4. สมาธิตามแนวศาสนาฮินดู (Hinduism)
5. สมาธิตามแนวศาสนาอิสลาม(Islam)
6. สมาธิตามแนวศาสนาซิก(Sikhism)
7. สมาธิตามแนวลัทธิเต๋า (Taoism)
8. สมาธิตามแนวการปฎิบัติแบบ TM(Transcendental Meditation)
9. สมาธิตามแนวการปฏิบัติแบบซีคูล่า(Secular)

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: http://www.novabizz.com/NovaAce/Spiritual/Meditation.htm

เสถียรธรรมสถาน...บทเรียนแห่งลมหายใจ


ครั้งแรกที่คิดจะปฏิบัติธรรม เกิดจากความประทับใจที่ได้เห็นแม่ชีศันสนีย์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แม่ชีเป็นผู้หญิงที่ดูสงบ มีเมตตา มีความรัก ความกรุณา ไม่ถือตัว

เสถียรธรรมสถาน บอกว่า “เราจะพ้นทุกข์ร่วมกัน” ในศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา
การปฏิบัติจิตภาวนาด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า “อานาปานสติภาวนา” เป็นวิธีการภาวนาที่อบรมจิตใจให้เกิดความเป็นอิสระในการภาวนา ไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใด เพราะลมหายใจมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่ให้รู้จักใช้ลมหายใจให้เกิดประโยชน์ยิ่งขี้นและประโยชน์สูงสุด คือ เป็นเครื่องมือภาวนาให้เกิดความสงบภายใน จนสามารถใคร่ครวญธรรมและเข้าถึงสภาวะของธรรมสัจจะได้ นั้นคือความเห็นชัดอยู่ในสภาวะของความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวง

เมื่อได้จังหวะเวลาของชีวิต เดือนสิงหาคม 2551 เราจึงเริ่มไปปฏิบัติครั้งแรกที่เสถียรธรรมสถาน เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ในระหว่างนั้นได้ฟังคำสอนของแม่ชี ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้เห็นผู้คนมากมายทั้งคนแก่ ผู้ใหญ่ วัยเกษียณ วัยทำงาน วันรุ่น เด็กเล็ก ได้เห็นภาพของครอบครัวที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ได้เอาตัวเข้าไปเรียนรู้ สวดมนต์ ฝึกโยคะยามเช้า ภาวนา เดินจงกรม ร้องเพลง แม่ชียังได้สร้างแรงบันดาลใจ ...ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นอีกมากมายในชีวิต

กราบขอบพระคุณคุณแม่เป็นอย่างสูง ที่ทำให้มีสถานที่ดีๆอย่าง เสถียรธรรมสถาน